เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2565
เรื่อง ปฏิสัมภิทาญาณ โดยการฝึกผ่านอรูปสมาบัติ
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
ทรงอารมณ์สมาธิสูงสุดในกำลังที่เราทำได้ จิตใจสงบผ่องใส พยายามฝึกฝนให้เราอยู่ในอิริยาบถสบายๆนะครับ เมื่อเราเข้าสู่ที่นั่ง อยู่ในการกำหนด การทำสมาธิ พยายามปล่อยวางร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่สบาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ฝึกที่จะกำหนดให้เป็นธรรมชาติโดยอัตโนมัติว่า เมื่อเราผ่อนคลายร่างกาย คือการที่เราปลด ความเกาะ ความห่วง ความยึด ในร่างกายไปพร้อมกัน นั่นก็คือให้ความรู้สึกที่เราผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ร่างกาย จิตเราปล่อยวาง จากความเกาะ เป็นการตัดร่างกายขันธ์ 5 ไปพร้อมกับสภาวะที่เราปลดปล่อย ผ่อนคลาย ทำจนอัตโนมัติ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากการฝึกฝน จากการจดจ่อ
ตรงจุดนี้ให้เราสังเกตว่า เมื่อเราผ่อนคลายปุ๊บ จิตสามารถที่จะรวมเข้าสู่ฌานได้ทันที ผ่อนคลายคือปล่อยวาง จิตรวมลงสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว เมื่อปล่อยวางร่างกายได้ก็กำหนดต่อไป ให้เกิดความเคยชินเป็นวสี ความชำนาญ เมื่อปล่อยวางร่างกายได้ เราก็ปล่อยวางจิตใจ คือ การให้อภัย อโหสิกรรม ปล่อยวางเรื่องกระทบทุกอย่าง ปล่อยวางไปพร้อมกับสภาวะของการผ่อนคลาย เมตตา อภัย ปล่อยวาง เมื่อเราปล่อยวางทั้งร่างกายและจิตใจได้ ให้เราย้อนกลับมาดูจิตของเรา ว่าจิตของเรามีความสงบไหม อารมณ์ใจของเราตอนนี้มีความเบา มีความสบายไหม ผ่อนคลาย ปล่อยวางร่างกาย ผ่อนคลายปล่อยวาง อภัย อโหสิ จิตสงบ สำรวมลงอย่างรวดเร็ว ไม่สนใจเสียงภายนอก ไม่สนใจความวุ่นวายภายนอก อยู่กับความสงบสุขภายใน กำหนดรู้อยู่กับความสงบสุขสันติภายในใจของเรา เมื่อจิตรวมลงสู่ความสงบภายใน กำหนดพิจารณาต่อไป ให้จิตของเราผ่องใสขึ้น สว่างขึ้น กำหนด นิมิตดวงจิตเรา จิตเป็นดวงกสิณ กสิณเป็นดวงจิต สะท้อนสภาวะภายใน จิต สงบนิ่งเป็นฌาน ก็ปรากฏสภาวะดวงจิตของเราเป็นเพชรประกายพรึก เป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราวสว่าง ใจมีความสุข มีความสงบ มีความผ่องใส
เมื่อจิตมีความผ่องใสแล้วก็กำหนดจิตต่อไป กำหนดสลาย สภาวะโดยรอบกายของเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ 5 กายเนื้อก็ตาม สภาวะรูปทั้งหลาย สลายเป็นความว่างไปจนหมด เหลือเพียงจิตของเรา ลอยเด่นอยู่ท่ามกลางความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีขอบเขต ไม่มีผนัง ไม่มีเพดาน ไม่มีพื้น ขาว โล่ง ว่าง สว่าง โล่งไปหมด อารมณ์ที่เราเพิกรูปทั้งหลาย วัตถุทั้งหลาย สภาวะเข้าสู่ความว่างเวิ้งว้างนี้ คือ อารมณ์จิตที่เราทรงในสมาบัติ ที่เป็นอรูปสมาบัติ เมื่อจิตเราเจริญในอรูปสมาบัติ เราพึงพิจารณาต่อว่า รูปทั้งหลาย วัตถุทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความยึดติดในรูป ในวัตถุต่างๆ แม้ร่างกายขันธ์ 5 ของเราเองก็ตาม ยามแก่ ยามมีสภาวะเศร้าหมอง สภาวะที่กายนี้สกปรก จิตก็เกิดความกังวล ความทุกข์ ความยึดในร่างกาย เหตุนี้เราจึงเพิกรูป เพิกวัตถุ เพิกร่างกายขันธ์ 5 สลายกลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า จิตไม่เกาะ ไม่ยึด ในร่างกายขันธ์ 5 แม้ว่าในที่สุดร่างกายขันธ์ 5 ที่เป็นกายเนื้อนี้ จะต้องเข้าถึงซึ่งความตายคือมรณา มรณานุสติ เมื่อจิตคิดพิจารณาในมรณานุสติ ในร่างกายขันธ์ 5 ได้ จิตใช้กำลังของอรูปสมาบัติ เพิก ละ ตัดร่างกาย คือตัดร่างกายด้วยกำลังอำนาจของสมาบัติ 8 คืออรูปสมาบัติ จิตก็เกิดกำลังสูงขึ้น เป็นบาทฐานแห่งการบรรลุธรรมในวิสัยของปฏิสัมภิทาญาณ
วิสัยของปฏิสัมภิทาญาณนั้น หากนับในความเป็นพระอริยเจ้าอันมีวิสัยทั้ง 4 ได้แก่สุขวิปัสสโก บรรลุธรรมโดยไม่มีญาณ ไม่มีความเป็นทิพย์ของจิต ไม่มีอภิญญาจิต หรือคุณธรรมวิเศษอย่างอื่น นอกเหนือจากตัดกิเลส นั่นก็คือ สุขวิปัสสโก ใช้กำลังฌาน กำลังสมาธิ เพียงเล็กน้อย ในระดับประถมฌาน ในการพิจารณาธรรม ก็สามารถเข้าถึงซึ่งความเป็นพระอริยเจ้า ในวิสัยของสุขวิปัสสโก คือเน้นการเจริญปัญญา พิจารณา แต่ไม่ได้มีญาณทัศนะ ไม่มีบุพเพนิวาสานุสติญาณ ไม่มีญาณทั้ง 8 ประการ
ส่วนประเภทที่ 2 คือประเภทที่เรียกว่าวิชชา 3 คือ เตวิชโช จิตมีกำลังฌานสมาบัติคือกำลังแห่งสมถะ ในบาทฐานที่ทำให้ได้ทิพย์จักษุญาณ นั่นก็คือ ได้กสิณที่เป็นฐานของทิพย์จักษุญาณกองใดของหนึ่ง เช่นกสิณไฟ อาโลกสิณ หรือกสิณน้ำ ซึ่งตรงจุดนี้ หากเราได้กสิณกองใดกองหนึ่ง และใช้กำลังของกสิณในการพิจารณาตัดกิเลส ใช้กำลังของกสิณ ในวิสัย ในการที่ได้ทิพย์จักษุญาณ ก็ทำให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าที่มีคุณธรรมวิเศษ คือมีญาณเครื่องรู้ ความเป็นทิพย์ของจิต ได้ทิพย์จักษุญาณคือรู้เห็นในกายทิพย์ต่างๆ รู้เห็นในเหตุการณ์ต่างๆได้พอประมาณ เรียกว่าได้วิชชา 3 คือ เตวิชโช
ส่วนวิสัยที่ 3 คือวิสัยที่เรียกว่า อภิญญา6 หรือฉฬภิญโญ บุคคลที่ปฏิบัติ มีกำลังของสมถกรรมฐาน ในการตัดกิเลส โดยสำเร็จในวิชาธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นะ มะ พะ ทะ ที่เราฝึกในมโนมยิทธิ ก็คือควบรวมอยู่ในดิน น้ำ ลม ไฟ รวมถึงพุทธานุสติ และอาโลกสิณ คือกสิณแสงสว่าง ในวิสัยของฉฬภิญโญ หรืออภิญญา 6 นี้ คุณธรรมวิเศษนอกเหนือจากตัดกิเลสได้ ก็จะเกิดญาณเครื่องรู้ เป็นญาณ 8 ประการ อาทิเช่น เจโตปริยญาณ การรู้วาระจิตของบุคคลอื่น อดีตังสญาณ คือญาณที่ล่วงรู้ไปในอดีตหรืออดีตชาติ อนาคตังสญาณ ญาณที่ล่วงรู้ไปในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันสนังสญาณ ก็คือญาณที่ล่วงรู้ไป ในปัจจุบันแต่เป็นเหตุการณ์ เป็นสถานที่ ในเหตุการณ์สถานที่อื่น ที่ตัวเองไม่ได้อยู่ ณ ที่นั้น แต่ใช้จิตเข้าไปดู เข้าไปรู้ในเหตุการณ์นั้นๆ บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณล่วงรู้ในบุพกรรม ในชาติภพเดิมของบุคคลต่างๆ ญาณต่างๆเป็นอาทิเช่น ดังที่กล่าวมา ก็ถือว่าเป็นคุณธรรมวิเศษของ บุคคลที่ได้ในฉฬภิญโญ หรืออภิญญา 6
นอกเหนือจากนั้น ก็เป็นผู้ที่ทรงในอภิญญาใหญ่ สามารถแสดงอิทธิวิธีได้ เมื่อถึงเวลาวาระที่พระท่านอนุญาต ซึ่งปัจจุบันนี้ก็กำลังเริ่มเข้าเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ เริ่มเข้าเขตของอภิญญาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ฆราวาสหรือบรรพชิต ก็จะเริ่มมีกำลังของอภิญญาใหญ่เข้ามา คือแสดงอิทธิวิธีได้ สามารถใช้ญาณเครื่องรู้ต่างๆ การแสดงฤทธิ์ต่างๆให้ปรากฏขึ้นได้ อิทธิวิธีก็อาทิเช่น สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เดินทะลุกำแพงได้ คว้าจับสิ่งของให้ปรากฏขึ้นมาจากอากาศ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง ซึ่งอันที่จริงแล้ว การแสดงฤทธิ์หรืออภิญญา เป็นเรื่องของอิทธิวิธี ซึ่งมีความลึกซึ้งพิสดาร สามารถแสดงได้มากมายมหาศาล อันนี้ก็คือวิสัยที่จะต้องได้บาทฐานของกสิณธาตุทั้ง 4 คือสำเร็จวิชาธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือถ้าบุคคลใดจะได้กสิณครบ ทั้ง 10 กอง นั่นก็ถือว่ามีฐานที่จะพึงปฏิบัติในวิสัยนี้ได้
ส่วนวิสัยของการบรรลุธรรมในแบบที่ 4 ก็เรียกว่า ปฏิสัมภิทัปปัตโต หรือปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิสัมภิทาญาณนี้ถือว่า มีความสามารถครอบคลุมเหนือจากทั้ง 3 วิสัยทั้งหมด นั่นก็คือ นอกเหนือจากมีความเป็นทิพย์ของจิต ได้ทิพย์จักษุญาณ ทิพย์โสต ก็ยังมีการแสดงอิทธิวิธีได้ ญาณทั้ง 8 ได้ รวมไปถึงการที่สามารถจะมีคุณธรรมของปฏิสัมภิทาญาณปรากฏอันได้แก่ 1 สามารถแสดงธรรม จากง่ายให้ลึกซึ้งพิสดาร 2 แสดงธรรมที่ลึกซึ้งพิสดารให้ง่ายดาย ง่ายต่อการปฏิบัติ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือสอนธรรม แสดงธรรมที่ยากลึกซึ้ง ให้ง่ายและบรรลุรวดเร็วฉับพลัน ส่วนคุณธรรมวิเศษต่อมาก็คือสามารถรู้ภาษาสัตว์ทั้งหมด รู้ภาษาต่างดาวทั้งหมด เนื่องจากสื่อสาร รู้ด้วยจิต รู้ด้วยวาระจิต 4 สามารถทรงความรู้ สามารถทรงพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด แม้บุคคลท่านนั้นอาจจะไม่เคยเรียนหนังสือมาก็ตาม เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วเป็นเรื่องของญาณเครื่องรู้ ปัญญาที่ผุดรู้ในธรรมขึ้นมาจากจิต จึงทรงพระไตรปิฎกได้หมด กำหนดรู้ กำหนดถามพระท่านได้หมด
ดังนั้นสำหรับบุคคลที่จะพึงได้ในวิสัยของบรรลุในแบบของปฏิสัมภิทาญาณนั้น คือการที่บุคคลนั้น มีกำลังของอรูปสมาบัติกองใดของหนึ่ง คือสมาบัตินี้มันมีทั้งหมด 4 อรูปสมาบัติกองใดกองหนึ่งสำเร็จ แค่เพิกรูป สลายรูป เห็นรูป เห็นวัตถุ ระเบิดเป็นผุยผง เป็นธุลี สลายตัวไป กำลังจิตกำลังของอรูปเช่นนี้ ก็เป็นบาทฐานที่ทำให้เกิดคุณธรรมวิเศษอันใหญ่ อันที่จริงถ้าถามว่า ถ้าจะฝึกให้ได้อรูปสมาบัติ เป็นเรื่องง่ายหรือเรื่องยาก ก็ต้องบอกว่าอันที่จริงนั้น ปฏิสัมภิทาญาณ การที่เราฝึก การที่เราปฏิบัติในอรูปจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัย ถ้าบุคคลที่สอนมีความเข้าใจ สอนให้ง่ายก็เป็นเรื่องง่าย สอนให้ยากก็เป็นเรื่องยากเกินวิสัยที่จะปฏิบัติกัน ซึ่งอันที่จริงแล้วในการปฏิบัติธรรมทั้งหมด ถ้าเราปฏิบัติมาถึงจุดหนึ่งที่ทำได้และเข้าใจ เราจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า บางครั้งเหตุของการปฏิบัติธรรม แล้วเราปฏิบัติไม่ได้กัน เนื่องจากผู้สอนสอนให้ยากเกินไป ทำเกินกำลังเกินไป อย่างความเป็นทิพย์ของจิต กำลังของมโนมยิทธิ ก่อนที่เราจะฝึกกัน เราก็จะไปเข้าใจว่าการได้ฌาน 4 มันต้องเป็นฌานชนิดที่ว่าหนัก ต้องแน่น ต้องตึง ฌานที่ต้องเพ่ง ฌานที่จะต้องทำแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ความเป็นจริงแล้วเนี่ย การปฏิบัติจริง มันตรงกันข้ามกับความเข้าใจแต่แรก
อันที่จริงความเป็นทิพย์ของจิตเกิดจากความเบา สภาวะที่เรียกว่าเมฆจิต จิตเราวางอารมณ์เบาๆ สบายๆ ผ่องใส ความเป็นทิพย์ ญาณเครื่องรู้ก็ผุดรู้ขึ้นในขณะที่จิตมันเบาๆ สบายๆ มันตรงกันข้ามกับการที่เราไปคิดว่ามันต้องเพ่ง ต้องเค้นให้มันเกิดภาพ เกิดนิมิต เกิดการรู้ อันที่จริงมันเบาๆ สบายๆ มันถึงจะเกิด ดังนั้นบางครั้งผู้สอนก็สอนให้มันยาก มันหนัก มันก็เลยไม่ได้กัน แต่สอนเนี่ย ถ้าเราวางอารมณ์จิตไว้ถูก การปฏิบัติก็เป็นเรื่องง่าย อรูปสมาบัติก็เช่นกัน อันที่จริงเพิกรูป สลายรูป สลายฟืบ เป็นความว่างไปจนหมด รู้สึกทุกอย่างมันว่าง โล่ง สลายออกไปจนหมด ภาพต่างๆ ภาพวัตถุต่างๆ มันค่อยๆเลือน ค่อยๆสลาย หาย กลายเป็นความว่างไปหมด สภาวะเพียงแค่นี้ก็คือ การเข้าถึงสภาวะของอรูป ซึ่งอันที่จริงอรูปสมาบัติถ้าทำได้
ผลลัพธ์ของการที่เราได้อรูป คุณธรรมวิเศษในญาณบรรลุธรรมมันได้คุ้มเกินคุ้ม คือครอบคลุมคุณสมบัติ ความสามารถพิเศษของความเป็นพระอริยเจ้าทั้งหมด ใช้ฤทธิ์ใช้อภิญญาก็ได้ ทิพย์จักษุญาณก็ได้ กำลังของมโนมยิทธิก็มีความคล่องตัว ญาณเครื่องรู้ต่างๆก็ผุดรู้ขึ้นมาในจิต เป็นปฏิสัมภิทาญาณ ธรรมเข้าใจ ธรรมที่ยากก็เข้าใจได้โดยง่าย ธรรมที่ง่ายเราก็เข้าใจโดยละเอียดพิสดารลึกซึ้งขึ้น ดังนั้นอันที่จริงเนี่ย ในเมื่อสอนให้ได้ง่ายแล้ว หรือการที่เรามาฝึกในเมตตาสมาธิในกลุ่มนี้แล้ว อันที่จริงอาจารย์ก็สอดแทรก สอนให้เราทุกคนได้ฝึกในอรูปสมาบัติกันทุกคนแล้ว ดังนั้นอันที่จริงหากเราตั้งจิตปรารถนาให้ดี เราก็สามารถพึงเข้าถึงวิสัยแห่งปฏิสัมภิทาญาณได้
วิสัยของปฏิสัมภิทาญาณจะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ประโยชน์ที่ว่าก็คือ ในการชำระหรือสังคายนาพระไตรปิฎกแต่ละครั้ง หากจะให้ธรรมะของพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์หมดจดอย่างแท้จริง พระที่เข้าสังคายนา หากเป็นพระที่ทรงในปฏิสัมภิทาญาณล้วนๆทั้งคณะ ก็จะสามารถที่จะสอบทานธรรมะโดยตรง ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่มีการที่เข้าใจโดยตีความ โดยความเข้าใจตามภาษาปุถุชน หากพระถึงแม้ว่าเป็นพระเปรียญ แต่ว่ายังไม่ได้เข้าถึงซึ่งความเป็นพระอริยเจ้า ก็อดไม่ได้ที่จะมีการตีความไปตามความเข้าใจของตน แต่หากธรรมะที่ออกมาจากการสื่อ โดยตรง ถามตรงต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละหัวข้อ ในแต่ละข้ออรรถ ข้อธรรม ธรรมะทั้ง 84000 พระธรรมขันธ์ ก็จะพลอยมีความบริสุทธิ์หมดจด ตรงตามพระพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ ข้อนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่ออนุชนคนรุ่นหลังและการเผยแผ่ธรรมะในกาลต่อไป การแสดงธรรมก็ดี เมื่อสามารถแสดงธรรมที่ยากให้ง่ายได้ สอนธรรมที่ปฏิบัติยากให้กลายเป็นปฏิบัติง่ายได้ ธรรมะก็สามารถงอกงาม เจริญในดวงจิตของผู้คนได้มากกว่าธรรมะที่ปฏิบัติยากจนกระทั่งไม่มีผู้ใดสามารถเข้าถึงธรรมนั้น ตรงนี้ก็ถือว่าเราโชคดีที่ได้ปฏิบัติธรรมที่ง่ายเข้าถึงโดยละเอียดลึกซึ้งพิสดาร ปฏิบัติแล้วก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากนี้ จากประสบการณ์ที่อาจารย์ได้พบด้วยตัวเอง การที่ได้อภิญญาสมาบัติ การแสดงอิทธิวิธี การรู้วาระจิตต่างๆ ถึงเวลานั้นมันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแผ่ธรรมะให้แก่ผู้ที่ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ พอมาพบ มาเจอ คุณธรรมวิเศษในเรื่องการรู้วาระจิต ดักในเรื่องของจิต ดักในความเป็นไปในชีวิตของบุคคลเหล่านั้นที่ผ่านมาในอดีต พอเจอเข้าไปแบบนี้ ล่าสุดอาจารย์เพิ่งเจอคนที่เป็นนับถือในศาสนาคริสต์ โดยที่เป็นผู้ที่เป็นผู้นำสวดนมัสการในระดับสูงของโบสถ์ พอมาเจอบุคคลที่ท่านมีการรู้ในเจโตปริยญาณ รู้ละเอียดลึกซึ้ง เรียกว่าหมดไส้หมดพุง ในประวัติชีวิตของบุคคลนั้น เขากลับลำเปลี่ยนจากศาสนาคริสต์มาเป็นพุทธ เรียกว่าฉับพลัน เดี๋ยวนั้นทันใจทันที
ดังนั้นไม่น่าแปลกใจ ในยุคสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าโปรดแสดงธรรม ตรงจิต ตรงวาระจิต ตรงใจของบุคคลทั้งหลาย ตรงและตรองเห็นตามความเป็นจริงในข้อธรรมได้ บุคคลทั้งหลายก็เกิดจิตศรัทธา เลื่อมใสเข้าสู่พระพุทธศาสนากันอย่างมากมาย ดังนั้นจะให้เข้ายุคที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ว่า จะเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาจะมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งคล้ายดังสมัยพุทธกาล ก็ย่อมต้องมีเหตุมีปัจจัย เหตุปัจจัยที่ว่าก็คือ ผู้คนเข้าถึงธรรมะ เข้าถึงการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วเกิดผล ปฏิบัติแล้วไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปเท่าไหร่ก็ไม่มีความก้าวหน้า ไม่เห็นผล ความสงบก็ไม่เกิด แต่ปฏิบัติไปเพียงครั้งเดียว ทำตามครั้งเดียว จิตเกิดความสงบ จิตเกิดฌาน จิตเกิดปัญญา จิตเกิดญาณทัศนะ รู้เห็นในธรรมต่างๆ รู้เห็นในความเป็นทิพย์ต่างๆ จนกระทั่งชัดแจ้ง เป็นปัจจัตตัง ชัดแจ้งกระจ่าง ตรงกับใจของตัวเอง ดังนั้น ศรัทธาก็ปรากฏขึ้น การปฏิบัติก็เกิดขึ้น เมื่อมีการปฏิบัติเกิดขึ้น โลกนี้ย่อมไม่ว่างจาก พระอริยเจ้า ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง และนี่ก็คือสาเหตุสำคัญของการที่อาจารย์เผยแผ่ในการปฏิบัติในเมตตาสมาธิ ตามคำสั่งของพระที่ท่านมอบหมายให้มาทำ ให้มาเผยแผ่ ตรงจุดนี้เราก็เริ่มมีความเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องเป็นปฏิสัมภิทาญาณ
หากเราหวังสูง ยังไงเราก็ยังได้สูง ยังได้ครอบคลุม ปฏิสัมภิทาญาณโดยการฝึกผ่านอรูปสมาบัติเป็นเรื่องไม่ยาก ให้เราบอกกับตัวเราเอง กำหนดจิตของเราตอนนี้ สบายๆ เห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง กำหนดให้ดวงจิต ปรากฏลอยออกมาอยู่เบื้องหน้ากายเนื้อ หากเรานั่งอยู่ ก็ให้ดวงจิตลอยมาอยู่เบื้องหน้า ให้จิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น มองร่างกายเนื้ออยู่ หากเรานอนอยู่ ฝึกนอนอยู่ ก็ให้ดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก ลอยอยู่เหนือร่างกายที่ทอดนอนอยู่นั้น จากนั้นกำหนดความรู้สึก ในความเป็นจิต เป็นเพชรประกายพรึก กำหนดเพิก สลาย เห็นร่างกายเนื้อค่อยๆเลือน ค่อยๆสลายตัว ค่อยๆเป็นผง ค่อยๆสลายไปจนหมด เป็นอากาศธาตุ เป็นความว่าง สลายไปจนหมด พิจารณาเพิก ด้วยกำลังของอรูป
ในขณะเดียวกัน ให้เราฝึกต่อ ให้กายเนื้อกลับมาอีกครั้งหนึ่ง กำหนดจิต โดยกำหนดในอสุภสัญญา ในกรรมฐาน แล้วปิดด้วยอรูป พิจารณาดังนี้ว่า กรรมฐานทั้ง 5 คือเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ กำหนดจิต เห็นผมหลุดร่วงไปจนหมดจากกายเนื้อ โลมา-ขน กำหนดจิตให้ขนทั่วร่างกาย คิ้ว ขนกาย ทั่วร่างกายหลุดร่วงออกไปจนหมด นะขา-เล็บ กำหนดให้เล็บมือเล็บเท้าหลุดร่อนจากนิ้วมือนิ้วเท้าไปจนหมด ทันตา-ฟัน กำหนดจิตว่าฟันร่วงจากปากทั้งหมด ร่างกายขณะนี้ มองเห็นเป็นร่างกายเรียบๆ ไม่มีขน ไม่มีผม ฟันก็ไม่มี เล็บก็ไม่มี ฟันงุ้มติดกับเหงือก ริมฝีปากติดกับเหงือกอยู่ จากนั้นเพิก ตะโจ-ผิวหนัง ร่อนผิวออกไปจนหมด จนเหลือแต่กายที่เป็นเลือดแดงๆ ไม่มีหนังห่อหุ้ม เห็นเนื้อแดงๆทั่วร่าง กำหนดจิต พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นอสุภะ คือของที่ไม่สวยงาม เป็นเลือดเนื้อแดงๆ พิจารณาต่อไปว่าร่างกายที่เห็นอยู่นี้ ร่างกายที่เรารู้สึกว่ามีความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นกายของเราหรือว่ากายของบุคคลอื่น ก็เนื่องมาจากเปลือกภายนอก คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่เป็นเปลือก ที่เป็นฉลาก ที่มาห่อหุ้มให้เราหลงอยู่กับผิวพรรณที่สวยงาม ผมที่ยาวสลวย ฟันที่ขาวดังสังข์ขัด เล็บที่ยาวเรียวสวยงาม ไรผมไรขนที่ดูสวยงาม
กำหนดคิดพิจารณาว่าเมื่อเปลือกทั้งหลาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หลุดร่อนออกไปจนหมดร่างกาย ไม่ว่าจะสวยงาม เป็นคนสวยคนหล่อแค่ไหน ก็อยู่ในสภาวะที่ปราศจากความสวยงาม มีสภาวะ เป็นเลือดเนื้อเต็มตัวไม่ต่างจากกัน พิจารณาแล้วก็น้อมจิตต่อไปว่า หากร่างกายนี้ตายไป กายที่เป็นเลือดเนื้อแดงๆ ค่อยๆเน่า ค่อยๆคล้ำ ค่อยๆเขียวคล้ำ ค่อยๆดำ ค่อยๆมีหนอนชอนไช จนกระทั่งแห้งกรัง ผุ เหลือเป็นเนื้อหนังดำๆติดโครงกระดูก พิจารณาต่อไปว่าโครงกระดูกก็ถูกกาลเวลา ถูกสายลมแห่งกาลเวลาพัดพา ผุ กร่อนไปตามลำดับ จนกระทั่ง ร่างกายนี้ที่มีเพียงโครงกระดูก ค่อยๆ ผุ กร่อน เป็นผงไปเรื่อยๆ สลายตัวไปเรื่อยๆ เวลาผ่านไปร้อยปี พันปี โครงกระดูกก็ค่อยๆผุ เป็นผงธุลี สลายจนหมดสิ้น เป็นผงธุลีหายไปจนหมด สภาวะที่เห็นกายค่อยๆสลายกลายเป็นผุยผง หาย กลายเป็นความว่าง อารมณ์จิตนี้ก็ถือว่าเป็นอรูปสมาบัติ สลายกลายเป็นผงธุลี สลายเลือนหายกลายเป็นความว่าง อารมณ์นี้คืออารมณ์ของอรูปสมาบัติ ในการเพิกกายออก วัตถุรูป เพิกรูปเป็นความว่าง
อีกอารมณ์จิตหนึ่งก็คือ การพิจารณากายแล้วระเบิดกาย คือพิจารณาเห็นร่างกายนี้ ระเบิด สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปทั้งหมด อารมณ์ที่เห็นขันธ์ 5 กายเนื้อนี้ระเบิด มีปรากฏในอารมณ์กรรมฐานของครูบาอาจารย์ สาย พระป่า สายหลวงปู่มั่นหลายรูป เห็นกายขันธ์ 5 พิจารณาตัดไปเรื่อยๆ จนเห็นกายขันธ์ 5 ระเบิด ระเบิดกระจายไปทั่วจักรวาล จนรู้สึกได้ว่าโลกธาตุสะท้านสะเทือน นั่นก็คือขณะจิตที่ท่านพิจารณาตัดร่างกายขันธ์ 5 จนจิตเกิดนิมิต เห็นร่างกายตัด แตกสลาย ระเบิดกระจายออกไป ก็เป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับที่ท่านบรรลุอรหัตผล เกิดสภาวะ เกิดพลังงานแห่งการบรรลุธรรม โลกธาตุสะท้านสะเทือน อย่างองค์ที่เคยตัดแล้วเกิดสภาวะเช่นนี้ก็คือ หลวงปู่เทศน์ เทศน์รังสี ท่านจึงรจนาแต่งหนังสือธรรมะ ชื่อหนังสือ ชื่อสิ้นโลกเหลือธรรม คือสภาวะธรรมที่ท่านฝึก ที่ท่านปฏิบัติ ท่านพิจารณาภายใน จนกระทั่งเห็นร่างกายระเบิด เห็นโลก เห็นจักรวาลทั้งหลายระเบิดไปพร้อมกันทั้งหมด กลายเป็นผุยผง กลายเป็นความว่าง ในอารมณ์จิตขณะที่ท่านเห็นกายระเบิด โลก จักรวาลทั้งหลาย ระเบิด สลายตัวเป็นความว่าง จิตก็รวมสิ้นอาสวะกิเลสไปพร้อมกันในขณะจิตนั้น ดังนั้นท่านก็บรรลุธรรมในแบบของปฏิสัมภิทาญาณ อันนี้ขอให้เราน้อมดูจิต ดูอารมณ์ ดูตามไปด้วย แล้วก็โมทนาสาธุกับการบรรลุธรรมของท่าน เห็นโลก เห็นจักรวาลระเบิด กำหนดจิต น้อมจิตตาม พิจารณาตาม
ประโยชน์หนึ่งของการที่เราได้มโนมยิทธิ การที่เรารู้วาระจิต เราสามารถน้อมจิต ใช้ญาณเครื่องรู้ เข้าไปรู้ในอารมณ์จิตของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ของบุคคลทั้งหลาย ในอารมณ์จิตที่ท่านบรรลุธรรมได้ เมื่อเราเข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปตาม จิตเราน้อมในอารมณ์เช่นเดียวกับที่ท่านปฏิบัติ เราก็ลัดเวลาในการปฏิบัติของเราไปได้ อารมณ์จิตเกิดปัญญา เข้าใจสภาวะธรรมที่ปรากฏของครูบาอาจารย์ท่านได้ ดังนั้นธรรมที่เราปฏิบัติ ก็มีความก้าวหน้าลึกซึ้ง มีประสบการณ์ที่แตกฉานในการปฏิบัติมากขึ้น เห็นทาง เห็นแนวในการพิจารณาธรรม เห็นอุบายในการปฏิบัติจิตของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน แต่ละรูป แต่ละนาม มากขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ตามลำดับ
อันนี้ก็คือเทคนิคในการที่เราจะปฏิบัติธรรม ให้เกิดผลอย่างรุดหน้ารวดเร็ว เมื่อปฏิบัติไปแล้ว พยายามลองที่จะเริ่มตัดกายทุกครั้ง เห็นวัตถุสลายกลายเป็นความว่าง เมื่อจิตของเรารู้สึกเกาะ รู้สึกติด รู้สึกยึดกับสิ่งใด เมื่อสติเรากำหนดรู้ว่าเรายึดในสิ่งนี้ ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ จิตเราเกาะในสิ่งนี้ เราฝึกที่จะกำหนดต่อไป เมื่อกำหนดรู้ว่าเรายึดแล้ว เราวาง แต่วางก็คือวางด้วยอารมณ์ที่พิจารณาเห็น รูป วัตถุ สิ่งของหรือแม้แต่อารมณ์ หรือแม้แต่ภาพสัญญา ความจำ สลายกลายเป็นความว่าง หากเป็นภาพหรือสัญญาความจำ
วิธีกำหนดในอรูปก็คือ เห็นภาพเหตุการณ์ คือภาพสัญญาความจำนั้น ค่อยๆเลือนหายและค่อยๆเลือนห่างออกไปจากจิตของเรา ลอยห่างหาย แล้วสลายตัว เลือนออกไป กำหนดว่า สัญญาความจำนี้เป็นความทุกข์ เพิกสัญญาเป็นความว่าง สลายเป็นความว่าง ปล่อยวาง ด้วยอารมณ์แห่งอรูป เพื่อให้จิตข้าพเจ้าปล่อยวางจากทุกข์ ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางต่อสัญญานี้ และจิตข้าพเจ้าตั้งมั่นอยู่กับพระรัตนตรัยและพระนิพพานเท่านั้น อารมณ์จิตที่เรากำหนดว่าเรามั่นคง ตั้งมั่นอยู่กับพระรัตนตรัยและพระนิพพาน คือ อารมณ์ที่จะทำให้เราไม่ติดอยู่กับสภาวะของอรูป เนื่องจากอารมณ์ของอรูป คือรู้สึกว่าปล่อยวางได้ สลายได้ ปล่อยวางได้ สลายได้ จนเข้าใจว่าความว่างนั้นคือพระนิพพาน นั่นก็คือจุดที่เรียกว่าอรูป อรูปราคะ คือความยึดติด ความพึงพอใจ และความสำคัญผิดคิดว่าความว่างหรืออรูป คือพระนิพพาน อันนี้เราเจริญปัญญา ทำความเข้าใจในเรื่องของอรูปแล้ว เมื่อเข้าใจและรู้ทันแล้ว จิตเราก็ย่อมไม่ไปติดอยู่ในอรูป แต่เราจะสามารถใช้กำลังของอรูปในการปฏิบัติ ในการตัดกิเลส ในการพัฒนายกระดับกำลังของจิต จนกระทั่งจิตของเราสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ ตัดร่างกายขันธ์ 5 ปิดท้ายด้วยกำลังแห่งอรูปสมาบัติ และใช้กำลังของอรูปสมาบัติยกจิตของเราขึ้นไปบนพระนิพพาน
กำหนดจิตต่อไป สลายล้างร่างกายแล้วกำหนดให้เห็นจิตของเราตอนนี้ เป็นกายพระวิสุทธิเทพ สว่าง ผ่องใส จิตไม่เกาะ ไม่ยึดในร่างกายขันธ์ 5 จิตไม่เกาะ ไม่ยึดในสัญญาความจำทั้งหลาย กำหนดเห็นอาทิสมานกายของเราสว่างชัดเจน กำหนดจิตอาราธนาบารมีคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมะเจ้า คุณพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ มีหลวงพ่อปาน หลวงพ่อพระราชพรหมญาณเป็นที่สุด ขอยกอาทิสมานกายของข้าพเจ้าขึ้นไปบนพระนิพพาน อยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมและท่ามกลางพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ขีณาสพทุกพระองค์ ครูบาอาจารย์เจ้าทั้งหลายบนพระนิพพานด้วยเทอญกำหนดจิต ขอให้หมู่คณะเราขึ้นมาหมดทุกคนทุกดวงจิต ตอนนี้ทั้งหมด 57 ท่าน ขอจงปรากฏอาทิสมานกายขึ้นมาทั้ง 57 ท่าน
กำหนดจิตต่อไปนะเราจะย้อนเวลากลับไป อดีตังสญาณ ย้อนสภาวะของวันนี้ ที่เรายกถวายมหาสังฆทาน 16 ชุด ให้เราเกาะขบวน ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เกิดสังฆทานทิพย์ สังฆทานแก้วประกายพรึกบนพระนิพพาน จากนั้นยก ร่วมใจกันยกถวาย สมเด็จองค์ปฐม พร้อมทั้งหมู่สงฆ์ คือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายตั้งจิตยก 16 ครั้ง
ครั้งที่ 1 สาธุ ครั้งที่ 2 สาธุ ครั้งที่ 3 สาธุ ครั้งที่ 4 สาธุ ครั้งที่ 5 สาธุ ครั้งที่ 6 สาธุ
ครั้งที่ 7 สาธุ ครั้งที่ 8 สาธุ ครั้งที่ 9 สาธุ ครั้งที่ 10 สาธุ ครั้งที่ 11 สาธุ ครั้งที่ 12 สาธุ
ครั้งที่ 13 สาธุ ครั้งที่ 14 สาธุ ครั้งที่ 15 สาธุ ครั้งที่ 16 สาธุ
กำหนดจิตต่อไปว่า ขอให้ทานบารมีที่เราทรงอารมณ์แห่งฌานสมาบัติสูงสุด กำลังอภิญญาสมาบัติ กำลังของมโนมยิทธิ ยกมาถวายบนพระนิพพาน นอกเหนือจากวัตถุทานบนโลกมนุษย์แล้ว ยังมีกำลังแห่งอภิญญาสมาบัติและความเป็นทิพย์ของจิต ขอทั้งกำลังทาน กำลังจิต กำลังสมาธิ กำลังอภิญญา จงหลอมรวมเป็นหนึ่ง เป็นแสงสว่าง เป็นกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน เป็นฐานทานบารมีอันเป็นปรมัตถ์ เป็นกระแสบุญใหญ่หลั่งไหลรวมลงสู่อาทิสมานกายของข้าพเจ้าทุกคน สู่อาทิสมานกายกายของผู้ร่วมบุญทุกท่าน ผู้ที่โมทนาบุญทุกท่าน เป็นบุญใหญ่ เป็นมหากุศล เปิดสายทรัพย์ เปิดสายสมบัติ พลิกชีวิต ให้รวย ให้สำเร็จ ให้เจริญรุ่งเรืองอย่างอัศจรรย์ทันใจ ด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ เทวดาพรหมเมตตาแสดงอานุภาพ
ท่านที่มีสิ่งใดติดขัด ขัดสน ก็ขอจงเปิดบุญ เปิดทรัพย์ เปิดบารมี เปิดสายสมบัติ เปิดความคล่องตัว นับแต่นี้สำเร็จทุกอย่าง ขอกำลังบุญจงส่งผล กำลังบุญจงส่งผล กำลังบุญจงส่งผล จิตของเราผ่องใส ทานบารมีในปีใหม่นี้ได้สำเร็จแล้ว ตอนนี้ให้เราในสภาวะที่เป็นอาทิสมานกายอยู่บนพระนิพพาน เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐม น้อมจิตขอพรท่าน ตั้งจิตอธิษฐาน นับแต่นี้บุญจงส่งผล ขอพระอินทร์และท่านท้าวสหัมบดีพรหม ได้โปรดเมตตาบัญชาให้เทวดาพรหมทั้งหลาย ได้สงเคราะห์เกื้อกูลตัวข้าพเจ้า ลูกศิษย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้มีความคล่องตัว พลิกฟื้นชีวิตสู่ความร่ำรวย รุ่งเรืองเต็มกำลัง ขอพรของหลวงพ่อฤาษี รวยชาตินี้ นิพพานชาตินี้ จงปรากฏสัมฤทธิผลต่อหมู่คณะของพวกเราทั้งหลาย รวดเร็วอย่างอัศจรรย์ด้วยเถิด ขออภิญญาสมาบัติทั้งหลายจงปรากฏขึ้น กับศิษย์ทั้งหลาย อย่างรวดเร็วอัศจรรย์ด้วยเถิด
กำหนดนะ หมอบนะ หมอบกราบ ค่อยๆน้อมนะ ตอนนี้พระพุทธองค์ท่านทรงเมตตาแผ่ฉัพพรรณรังสีตรงลงมายังพวกเราทุกคน ให้เราหมอบ เหมือนกาเยนะเวลาที่หมอบกราบ ในขณะเดียวกันก็ให้อาทิสมานกายกายพระวิสุทธิเทพ น้อมรับพร น้อมรับกระแสจากพระพุทธองค์ หากเราบุคคลใดสามารถซึมซับ เกิดทิพย์โสต สามารถรับรู้ รับฟังในพร ในสิ่งที่ท่านประสิทธิ์ประสาทให้ ก็ให้กำหนดรู้ แล้วก็โพสต์แบ่งปันให้เพื่อน ตั้งใจนะตอนนี้ให้ตั้งใจหมอบรับพรรับกระแสปีใหม่ เอาล่ะกราบท่าน ตั้งใจกราบท่าน กราบทุกท่านทุกรูปทุกนาม
กำหนดจิตว่าบุญเกิดผล ฐานบุญของเราเต็ม ฐานบารมีของเราเต็ม สายสมบัติของเราเปิด บุญที่เราทำเป็นกุญแจทองคำ เปิดประตูห้องมหาสมบัติ เปิดสายทรัพย์สายสมบัตินับอนันต์ให้หลั่งไหลมาสู่ชีวิตของเรา ให้ชีวิตของเราในปีนี้เป็นการเริ่มต้นใหม่ สู่ชีวิตที่ยอดเยี่ยม ก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม จากนั้นกราบลานะ ครูบาอาจารย์ กราบลาพระพุทธองค์ ตั้งใจกราบด้วยความเคารพ กราบแทบเบื้องพระบาท เมื่อกราบแล้วก็ตั้งใจอธิษฐาน ขออนุโมทนาสาธุกับบุญของทุกคน โมทนาสาธุกับกุศลของเพื่อนๆทุกคน โมทนาสาธุกับเทวดาพรหมที่ท่านมาพิทักษ์รักษาในขณะที่เราไปทำบุญสร้างกุศลทุกครั้ง ในขณะที่เราเจริญพระกรรมฐาน สวดมนต์ไหว้พระทุกครั้ง
กำหนดจิตขอความเป็นทิพย์ ขอให้เราเห็นโดยความเป็นทิพย์ รู้สึกในความเป็นทิพย์ของจิต เห็นเทวดาพรหมทั้งหลายปรากฏขึ้นจำนวนมากมายเท่าไหร่ที่ดูแลรักษาเรา ก็ขอให้รู้ เห็นขึ้นมาในจิต โมทนาสาธุ ไหว้กราบสักการะทุกท่าน ขอน้อมบุญกุศลส่งถึงให้เทวดาพรหมที่ปกปักรักษาตัวเราทุกองค์ ทุกรูป ทุกนาม มีกำลังแห่งเทพฤทธิ์ ขอกำลังของเทวดาพรหมที่มีกำลังแห่งเทพฤทธิ์เพิ่มขึ้นจากบุญที่เราน้อมกุศลส่งถึง เมื่อท่านมีกำลังแล้ว ก็เมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือข้าพเจ้าเต็มกำลัง เต็มความสามารถ ด้วยกำลังบุญอันมีเหตุอันควรแล้ว ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าขอเมตตาบอกกล่าวให้ท่านเมตตาสงเคราะห์โดยตรงเรียบร้อยแล้ว ขอให้นับแต่นี้ท่านสงเคราะห์ข้าพเจ้าทั้งหลาย หมู่คณะของข้าพเจ้าทั้งหลายเต็มกำลังด้วยเถิด
นับแต่นี้ขอให้เกิดกำลังแห่งบุญฤทธิ์ คือ บุญที่เราทำไว้ด้วยกำลังใจสูง ด้วยบุญที่เราทำด้วยกำลังจิตอันมีฌานสมาบัติสูง ขอบุญฤทธิ์จงปรากฏเต็มในจิตของข้าพเจ้า ณ บัดนี้ ด้วยกำลังแห่งสมาธิจิต กำลังแห่งอภิญญาสมาบัติ กำลังแห่งสมาบัติ 8 กำลังจิตแห่งกสิณ กำลังจิตแห่งอิทธิวิธี ขอให้กำลังแห่งอิทธิฤทธิ์อันเกิดขึ้นจากตบะ เดชะ การปฏิบัติ การเจริญสมถกรรมฐานของข้าพเจ้า อิทธิวิธีจงเต็ม จงพร้อม ณ บัดนี้ด้วยเถิด และขอน้อมจิตทั้งหลาย กำลังแห่งการเจริญเมตตาอัปปันนาณฌาน ที่ข้าพเจ้าแผ่อุทิศให้กับเทวดาพรหมทั้งหลาย น้อมกุศลส่งถึงพรหม ถึงเทวดาทุกรูป ทุกนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทวดาพรหม ท่านผู้มีพระคุณ ที่ปกปักรักษาคุ้มครองเรา มีจิตเจตนาเมตตาสงเคราะห์เกื้อกูลเรา กระแสบุญ กระแสกุศลที่ส่งผล ให้เทวดาพรหมทั้งหลาย เกิดเทพฤทธิ์ ขอเทพฤทธิ์ของเทวดาพรหมที่เกื้อกูลสงเคราะห์ข้าพเจ้าจงช่วยเหลือข้าพเจ้าเต็มกำลังด้วยเถิด
จากนั้นอธิษฐานจิตต่อไป ขอบุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ เทพฤทธิ์ จงหลอมรวมเป็นหนึ่ง เป็นพลังอัศจรรย์อยู่กลางจิตอันเป็นเอกัตคตารมณ์ ประจุ บุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ เทพฤทธิ์ รวมเป็นหนึ่งในจิตของข้าพเจ้าด้วยเถิด ขอพลังแห่งบุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ เทพฤทธิ์จงสถิตย์รวมตัวเป็นหนึ่ง เป็นเอกัตคตารมณ์ในจิตข้าพเจ้าด้วยเถิด ขอจิตข้าพเจ้า ณ บัดนี้ มีพลังทั้งสามประการ จนเกิดเป็นจิตดวงแก้ว ดวงจิตสารพัดนึก นึกสิ่งใดสำเร็จสมปรารถนาอัศจรรย์ด้วยเถิด
เมื่ออธิษฐานจิตแล้ว ก็น้อมจิตกราบครูบาอาจารย์ทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม ใจเราผ่องใส กำหนดเห็นจิตของเราเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง กำหนดดู กำหนดรู้ว่าจิตของเรามีกำลังเพิ่มขึ้นไหม มีความผ่องใส มีการเปลี่ยนแปลง มีพลังไหม กำหนดรู้ของเรา จากนั้นหายใจเข้าลึกๆช้าๆ กำหนดรู้ นับแต่นี้จิตของเราเป็นจิต อัศจรรย์ ทรงกำลังแห่งอภิญญาจิต จิตของเราเป็นดวงแก้วสารพัดนึก จิตของเราคือจิตที่มีกระแสแห่งพุทธะ ดูแลรักษาคุ้มครอง มีกระแสของครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่ปาน มีหลวงพ่อฤาษีเมตตาคุ้มครองรักษา น้อมจิตน้อมใจหายใจเข้าลึกๆ พุท ออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ ตั้งใจว่า ขอโมทนาสาธุกับเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมทุกคน กัลยาณมิตรทั้งหลายที่มาฟังไฟล์เสียงภายหลัง ขอให้ได้บุญ ได้กุศลเต็มบริบูรณ์ ก้าวหน้า เจริญในธรรม เจริญในโลก และขอให้ปีใหม่นี้ ทุกคนรวยพลิกชีวิต รวยชาตินี้ นิพพานชาตินี้ จบกิจทางโลก ไปนิพพานอย่างสง่างามได้ทุกคนทุกท่านด้วยเทอญ สาธุ
สำหรับคนที่จะปฏิบัติ ไปปฏิบัติที่มูลนิธิโรจนธรรม ก็ช่วยกรุณาลงชื่อ ลงทะเบียน ในแบบฟอร์มที่จะแจ้งชื่อให้มูลนิธิล่วงหน้าด้วยนะครับ ถ้ามีโอกาสก็มาปฏิบัติ เพราะเป็นช่วงที่ปฏิบัติยาวเต็มวัน การปฏิบัติก็มีความก้าวหน้า เห็นหน้าเห็นหลังชัดเจนนะครับ พบกันวันที่ 9 สำหรับวันนี้ โมทนากับทุกคนครับ สวัสดี
ถอดความและเรียบเรียงโดย : Be Vilawan